I’ve never care what tomorrow come I’ve care just only today that l have you!!!

วันพุธ, ตุลาคม 20, 2553

ทำไม??ต้องตักบาตรเทโวโรหณะ!!!


            เมื่อภิกษุสามเณรเข้าอยู่จำพรรรษาครบ “ไตรมาส” คือครบ ๓ เดือนแล้ว ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันแรกของวันออกพรรษา ในวันนี้ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสาธุชนต่างพากันไปประชุม ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ เรียกว่า “ทำบุญออกพรรษา”           การออกพรรษาก็คือ การออกจากการอยู่ประจำในฤดูฝนของพระ เพราะในฤดูฝนพระท่านอยู่ประจำเป็นที่ ไม่ได้ค้างแรมที่อื่น เรียกว่า “จำพรรษา” เมื่อครบ 3 เดือนแล้วท่านก็จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ เรียกว่า “ออกพรรษา”
          วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา”           ในวันนี้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรม คือ ไม่ต้องสวดพระปาติโมกข์ ซึ่งตามปรกติต้องสวดเป็นประจำปักษ์ คือทุก 15 วัน
          คำว่า “ปวารณา” ก็คือการยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ ยอมให้ว่ากล่าว ยอมให้ตักเตือนกัน เป็นเรื่องของพระที่ท่านทำปวารณาต่อกัน คือต่างรูปต่างกล่าวปวารณาตามลำดับอาวุโส คำปวารณานั้นมีใจความว่า
          “ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลาย จงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้า เมื่อข้าพระเจ้าสำนึกได้จักทำคืนเสีย แล้วสำรวมระหวังต่อไป”
          การออกพรรษา เป็นกิจพิธีของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนพิธีของฆราวาสเนื่องในการออกพรรษาไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการบำเพ็ญกุศล เช่น ทำบุญตักบาตรตามวัดที่อยู่ย่านใกล้เคียง หรือที่ตนเคารพนับเลื่อมใสเป็นพิเศษ การบำเพ็ญกุศลในวันออกพรรษาเช่นนี้ ท่านจัดเป็นกาลทาน คือมีปีละครั้ง เป็นประเพณีสืบมา และในวันเช่นนี้ถือกันว่า เป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่ทรงจำพรรษาที่ดาวดึงส์เทวโลกครบ 3 เดือนแล้ว จึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการพิเศษด้วย
          มีเรื่องตำนานปรากฏในพุทธประวัติว่า เมื่อประมาณก่อน พ.ศ.80 พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา เมื่อครบ 3 เดือนแล้วได้เสด็จลงจากดาวดึงส์ในวันออกพรรษานี้ ที่่เมืองสังกัสสนคร ชาวพุทธจึงถือเป็นประเพณีสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อถึงวันเช่นนี้ก็เตรียมจัดอาหารเป็นพิเศษเพื่อใส่บาตร เรียกกันว่า “ตักบาตรเทโว(โรหณะ)” มีความหมายว่าเป็นการ “ตักบาตรเนื่องในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก” บางวัดก็ทำในวันกลางเดือน 11 บางวัดก็ทำในวันแรมค่ำหนึ่งเดือน 11
          ประเพณีที่ปฏิบัติกันมาคือ อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนล้อเลื่อน มีบุษบก และมีบาตรตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูป มีคนลากนำหน้าพระองส์ ประหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าเสด็จ บรรดาทายกทายิกาต่างก็ตั้งแถวเรียงรายเตรียมใส่บาตร อาหารที่ใส่ในวันนั้นมีข้าว กับ ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนเป็นพื้น (สุดแต่ท้องถิ่น) โดยมากทำพิธีกันบริเวณพระอุโบสถ แต่บางแห่งทำพิธีเหมือนกับพระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลกจริง ๆ เช่นที่วัดสังกัส จังหวัดอุทัยธานี อัญเชิญพระพุทธรูปลงจากเขา มีพระสงฆ์เดินตาม ประชาชนรอใส่บาตรที่เชิงเขา หรือที่วัดสระเกศ โดยอัญเชิญพระพุทธรูป และพระสงฆ์ตามเสด็จลงจากภูเขาทอง เป็นต้น
          นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับการออกพรรษา ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงบำเพ็ญเป็นประจำปีคือ นิมนต์พระบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า “บิณฑบาตเวร” สามวันคือ วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 11 วันละ 150 รูป พระมหาษัตริย์ทรงบาตรด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน เป็นราชพิธีสืมาทุกวันนี้           นอกจากนี้ก็มีประเพณีสวดมหาชาติคำหลวง ซึ่งได้จัดให้สวดในวันเข้าพรรษา 3 วัน กลางพรรษา 3 วัน และออกพรรษา 3 วัน ประเพณีการสวดมหาชาติคำหลวง หรือที่รียกว่า “สวดโอ้เอ้วิหารราย” ได้มีมานานแล้ว
          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า เกิดขึ้นครั้งพระเจ้าทรงธรรม   คือพระเจ้าทรงธรรมรงพระราชดำริให้จัดประเพณีอ่านหนังสือสวดให้เป็นประโยชน์แก่สัปปุรุษ เป็นต้นว่า ให้มีพนักงานอ่านประจำวิหาร หรือศาลารายในพระอารามหลวง สำหรับสัปปุรุษจะได้ไปฟัง ประเพณีการสวดประจำวิหาร คือศาลารายซึ่งพระเจ้าทรงธรรมดำริขึ้น ยังมีอยู่จนบัดนี้เฉพาะที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีพวกเด็กนักเรียนสวดชาดกเรื่องอื่น ๆ ตามศาลาราย
          มหาชาติคำหลวง เป็นหนังสือว่าด้วยชาดกอันเป็นกำเนิดของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร แต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเวลา กว่า 400 ปีมาแล้ว จึงมีถ้อยคำที่ฟังยาก ๆ อยู่มาก เหตุที่แต่งนั้นก็เพราะถือกันว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังคาถามหาชาติครบพันคาถา ที่เรียกกันว่า “คาถาพัน” (มีคาถา 1.000 คาถาพอดี) ย่อมจะได้รับอานิสงส์มาก และจะได้เกิดทันศาสนาพระศรีอาริย์ด้วย แต่คาถานั้นผู้ฟังฟังไม่รู้เรื่องเพราะเป็นคาถาภาษามคธ (บาลี) การแต่งนั้นมีรับส่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงศรีอยุธยาแต่ง วิธีแต่งเอาภาษามคธตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลแต่งเป็นภาษาไทยวรรคหนึ่ง สลับกันไป บางแห่งแต่งเป็นฉันท์บ้าง เป็นร่ายบ้าง เป็นกาพย์บ้าง ตามความถนัดของผู้แต่ง และเมื่อแต่งจากบทหนึ่งก็มีประโคมครั้งหนึ่ง ดังนี้จนครบ 13 กัณฑ์ หนังสือเรื่องนี้นับถือกันว่า แต่งดีเป็นเลิศมาแต่ครั้งกรุงเก่า ไม่ได้แต่งสำหรับเทศน์เหมือนอย่างมหาชาติกลอนเทศน์ที่ใช้เทศน์อยู่ในเวลานี้ แต่งสำหรับสวดมีทำนองน่าฟังมาก เข้าใจว่า พระเจ้าทรงธรรมทำแบบทำนองขึ้นไว้ เรียกว่า ทำนอง “กะ” คือ สวดเป็นทำนองตามที่กะไว้เป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงเอื้อน การสวดนั้นสวด 3 วัน วันละ 3 คน เป็นสำรับหนึ่ง ผู้สวดขึ้นนั่งเตียงสวดในพระอุโบสถ สวดถวายเวลาเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศล ประเพณีอันนี้มีมาทุกปี.

ไม่มีความคิดเห็น: